การทำ SEO เริ่มต้นทำ SEO


enjoyday นั้นตั้งใจอยู่แล้วที่จะเขียนแนะนำเรื่องการทำ SEO  เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญในการทำเว็บไซต์ แต่ว่ามันต้องใช้เวลาพอสมควรในการเรียบเรียง และเขียนออกมา คงต้องรอกันหน่อยนะคะ  
สำหรับผู้อ่านที่สนใจ ไม่อยากรอ อยากรู้ว่าการทำ SEO เบื้องต้นนั้นทำได้อย่างไรบ้าง สามารถอ่านจาก “คู่มือการทำ SEO สำหรับผู้เริ่มต้นฉบับภาษาไทยจาก Google” 



ดาวน์โหลดได้ที่นี่ค่ะ
http://www.google.co.th/intl/th/webmasters/docs/search-engine-optimization-starter-guide-th.pdf
.
คำแนะนำจาก Google ในการเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาให้กับเว็บไซต์ enjoyday สรุปมาบางส่วนให้อ่านกันง่ายๆ ค่ะ  

1. ตั้งชื่อ Title ของหน้าเว็บว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร และไม่ซ้ำกันในแต่ละหน้า

การตั้งชื่อให้แต่ละหน้าเว็บนั้นทำโดยการใส่ข้อความใน tag <title> ที่อยู่ใน tag <head> เช่น
<html>
<head>
   <title>Brand’s Baseball Cards – BuyCards, Baseball News, Card Prices</title>
   …
</head>
ซึ่ง Google จะใช้ชื่อที่เราตั้งแสดงในผลการค้นหาด้วย
เราอาจจะต้องใช้วาทะศิลป์สักนิด ในกรณีที่เว็บของเรามีอันดับต่ำกว่า เช่น อยู่หน้าแรกเหมือนกันแต่อยู่ลำดับที่ 5    ถ้าเราเขียนชื่อเว็บได้ชวนให้คลิกเข้ามาชม ผู้ชมก็จะเลือกคลิกมาที่เว็บเราด้วย คำที่มีผลก็เช่น สอนตั้งแต่พื้นฐาน, แบบละเอียด, แบบ stept by step, ฟรี เป็นต้น
ข้อแนะนำจาก Google
  • ตั้งชื่อให้สื่อถึงเนื้อหาของหน้าเว็บ ไม่ควรปล่อยเป็นค่าเริ่มต้นที่ได้มาตอนเขียนเว็บเพจ เช่น Untitled, New Page1
  • ตั้งชื่อให้แตกต่างกันในแต่ละหน้า หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อเดียวกันในทุกหน้า
  • ตั้งชื่อที่สั้น แต่ได้ใจความ เพราะถ้ายาวเกินไป Google จะแสดงได้เพียงบางส่วน
.

2.ใช้ Meta tag description ข้อความอธิบายเกี่ยวกับเว็บไซต์

Meta tag description ใช้สำหรับใส่ข้อความบรรยายเว็บไซต์ด้วยประโยคสรุป  อยู่ในส่วนของ tag <head>
<html>
<head>
<title>Brand’s Baseball Cards – BuyCards, Baseball News, Card Prices</title>
<meta name=”description” content=”Brandon’s Baseball Cards provides a large selection of vintage and modern era baseball cards for sale. We also offer daily baseball news and events in …”>

</head>
โดยคำอธิบายที่เราใส่ให้หน้าเว็บจะถูกนำมาแสดงในผลการค้นหาด้วยใต้ชื่อเว็บ หรือ title   แต่ไม่แน่เสมอไป เพราะบางครั้ง Google ก็เลือกดึงข้อความจากในหน้าเว็บนั้นมาแสดงเอง โดยดูจากคำค้นหา    แต่อย่างไรเราก็ควรใส่ไว้ และไม่ต้องใส่ให้ยาวเกินไปเพราะมันแสดงไม่พอค่ะ
ข้อแนะนำจาก Google
  • เขียนคำอธิบายเว็บให้ละเอียดแต่ให้กระชับ และดึงดูดความสนใจ
  • ไม่เขียนคำอธิบายที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้านนั้น
  • ระบุคำหลักที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเราลงไปด้วย
  • เขียนคำอธิบายที่ไม่ซ้ำกันสำหรับแต่ละหน้าเว็บ
.

3. การปรับปรุงโครงสร้าง URL ของเว็บ

URL ก็คือลิงค์ข้อความที่บอกตำแหน่งของข้อมูลใน Internet ไม่ว่าจะเป็น Web page, File ประเภทต่างๆ เช่น รูปภาพ เสียง
ข้อแนะนำจาก Google
  • ใช้คำที่ได้ใจความใน URL ที่ประกอบด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
    ไม่ควรเป็นค่าพารามิเตอร์และรหัส session ที่ไม่จำเป็น เช่น http://www.enjoyday.net/list.php?catid=34&no=37
    ไม่ใช้คำที่ไม่สื่อความหมาย เช่น page1.html
  • สร้างโครงสร้าง directory ที่เรียบง่าย การใช้ directory ที่จัดเนื้อหาอย่างเป็นระเบียบจะช่วยให้ผู้ชมรู้ตำแหน่งของตนที่อยู่บนเว็บไซต์ได้ เช่น
    http://www.enjoyday.net/webtutorial/html/index.html (บทเรียนออนไลน์สอน HTML)
    http://www.enjoyday.net/webtutorial/css/index.html (บทเรียนออนไลน์สอน CSS)
    http://www.enjoyday.net/webtutorial/xhtml/index.html (บทเรียนออนไลน์สอน XHTML)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ directory ที่เป็น sub ซอยย่อยจนเกินไป เช่น “…/dir1/dir2/dir3/dir4/dir5/dir6/page.html”
  • หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อ directory ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
.

4. ทำระบบนำทางในเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย

ระบบนำทางที่ดีจะช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว รู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหนของเว็บไซต์ และยังทำให้ Google รู้ว่า Webmaster ให้ความสำคัญกับเนื้อหาใด
องค์ประกอบของระบบนำทาง ได้แก่ เมนู, กล่องค้นหา, หน้า sitemap เป็นต้น
ข้อแนะนำจาก Google
  • สร้างลำดับขั้นที่ต่อเนื่องกันอย่างเหมาะสม ไม่แบ่งย่อยจนเกินไป เช่นต้องคลิกถึง 20 ครั้งกว่าเข้าถึงหน้าเนื้อหาย่อยได้
  • ใช้ข้อความสำหรับนำทาง เช่น ใช้ลิงค์ข้อความ หลีกเลี่ยงการใช้งานแบบเมนูเลื่อนลง รูปภาพ flash
  • ใช้การนำทางแบบแสดงเส้นทาง และทำเป็นลิงค์ให้คลิกกลับไปอีกหน้าได้ เช่น Brandon’s Baseball Cards > Articles > Top Ten Rarest Baseball Cards
  • ทำหน้า sitemap แบบ HTML  ที่มีลิงค์ของหน้าทั้งหมดในเว็บ และจัดระเบียบหัวข้อด้วย  หรือถ้ามีจำนวนหน้ามาก ก็ให้แสดงเฉพาะหน้าเว็บหลัก  และไม่ควรปล่อยให้มีลิงค์เสียในหน้า sitemap
  • สร้างไฟล์ sitemap แบบ XML สำหรับให้ Bot ของ Search Engine เข้ามาเก็บข้อมูลเว็บไซต์ได้ง่ายๆ ไม่ต้องไต่ลิงค์ตามหน้าเว็บเพจต่างๆ เอง
  • ใช้หน้า 404 ให้เกิดประโยชน์  ในกรณีที่ผู้ใช้อาจเข้าถึงหน้าที่เว็บที่ถูกลบไปแล้ว หรือพิมพ์ URL ผิด  การสร้างหน้าเว็บ 404 ที่กำหนดเอง โดยนำทางกลับไปยังหน้าแรก  จะดีกว่าปล่อยให้แสดงข้อความ Not Found

ไม่มีความคิดเห็น:

ร่วมเป็นสมาชิก Blogseothai คุณคือตัวจริง !